มหาวิทยาลัยธนบุรี (Thonburi University)

then

ประวัติความเป็นมา มหาวิทยาลัยธนบุรี

     จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี สู่ มหาวิทยาลัยธนบุรี นับตั้งแต่ ปี 2541 เป็นต้นมา คณะผู้บริหาร ได้พัฒนา อาคารสถานที่ สวนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งขยายพื้นที่เพิ่มเติม เป็น 101 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กีฬาแห่งความเป็นเลิศ ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี ได้รับการเปลี่ยนประเภท และ ชื่อ เป็น "มหาวิทยาลัยธนบุรี" เมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2550 และ ได้กำหนดให้ ทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธนบุรี

     แผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1 เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ” สะท้อนใหเ้ห็นถึงการเริ่มพัฒนาประเทศอย่างมีระบบ ปัญหาของการพัฒนาประเทศในช่วงนั้นคือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ คนไม่มีงาน และไร้ฝีมือ การคมนาคมไม่สะดวก รัฐจึงเน้นพัฒนาในด้านนั้นจนมีคำขวัญว่า “ทางดี มีงานทำ” และรณรงค์ให้มีการประหยัด คำ ว่า“รัดเข็มขัด” จึงเป็นคำที่คุ้นเคย กันแต่นั้นมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ฉบับที่ 2 เป็นต้นมา เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” โดยมุ่งพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่ยอมรับกันว่า การพัฒนาใดๆ จะสำเร็จได้ต้องมีการพัฒนาคน ก่อนคนจะทำสิ่งใด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ ปัจจัยที่ช่วยให้คนมีคุณภาพก็คือการศึกษา การศึกษาช่วยให้คนมีความรู้ ความสามารถ ฉลาดตัดสินใจ รู้รักษาสุขภาพอนามัย ตลอดจนจิตสำนึกในด้านศีลธรรม และวัฒนธรรม สามารถดำรงชีวิต อยู่ในสังคมร่วมกับบุคคลอื่น ได้อย่างมีความสุข สถาบันการศึกษาในระยะนั้น มีบทบาทสำคัญในการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเน้นทางด้านอุตสาหกรรมและพณิชยกรรม ท่านอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในแวดวงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตกำลังคนเพื่อไปพัฒนาประเทศในด้านอุตสาหกรรม ได้ปรารภถึงแรงบันดาลใจในการบุกเบิกการศึกษาว่า

 

     “ข้าพเจ้าเกิดความคิดที่จะสร้างโรงเรียนช่างกล โรงเรียนราษฎร์ เพราะภายหลังที่มีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจระยะที่ 1 ประเทศไทยได้พัฒนาด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ถึงแม้จะมีโรงเรียนช่างกลรัฐบาล 4 โรง ผลิตนักเรียนได้ปี ละ 2,500 คน เป็นเวลา 3 ปี ติดกันจะได้ช่างอุตสาหกรรมออกไปพัฒนาประเทศเพียง 7,500 คน ข้าพเจ้าจึงได้ปรึกษาท่านอาจารย์สิทธิผล พลาชีวิน ผู้บริการโรงเรียนช่างกลของรัฐบาล ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในการบุกเบิกการอาชีวศึกษา ด้านอุตสาหกรรม เพื่อจะเปิดโรงเรียนช่างกล โรงเรียนราษฎร์” โรงเรียนช่างกลอุตสาหกรรม พณิชยการ “หมู่บ้านครู” จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2512 โดยสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เสด็จมาเป็นประธานพิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2512 ณ คุรุคามพัฒนา (หมู่บ้านครู) เลขที่ 57/2 หมู่ 2 ถนนเพชรเกษม ซอยศุภชัย (ซอย 110 ) ตำบลหนองค้างพลู อำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี โดยมีอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ เป็นผู้อำนวยการ และอาจารย์ระเอิบ แย้มชุติ เป็นเจ้าของและผู้จัดการ ผู้ก่อตั้งสถาบัน มีความตั้งใจที่จะรวบรวม ผู้ทรงคุณวุติให้อยู่ในชุมชนเดียวกัน เพื่อผลแห่งการพัฒนาร่วมกันจึงจัดให้มีโครงการแบบหุ้นส่วน โดยการชักชวน เพื่อนข้าราชการครูมาจัดซื้อที่ดินราคาถูกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ดิน ของตำบลหนองค้างพลู เรียกว่า “คุรุคามพัฒนา” หรือ “หมู่บ้านครู”

 

     นอกจากผลทางการศึกษาแล้ว การร่วมมือกันของครูในบริเวณดังกล่าวยังมีส่วนช่วยเหลือชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตชานเมือง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นับว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาท้องถิ่นในด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปกับการเรียนการสอน อีกทั้งยังยึดมั่นในพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ กล่าวคือ “ข้าราชการคนใดอยู่ตำบลใด ช่วยพัฒนาตำบลนั้น ประเทศชาติจะเจริญในที่สุด” จึงนับได้ว่า “หมู่บ้านครู” เป็นสถาบันที่ให้บริการสังคมตามอุดมการณ์ของสถาบันการศึกษาอีกด้วย อาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ ได้วางแผนจัดการศึกษาด้านช่างอุตสาหกรรมและพณิชยกรรม โดยยึดหลักว่า “ช่างเป็นผู้ผลิต พณิชย์เป็นผู้ขาย” โดยกำหนดแผนพัฒนาไว้เป็นช่วงระยะเวลา 10 ปี (ทศวรรษ) ดังนี้

 

     ทศวรรษที่ 1 (พ.ศ. 2512-2521) เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายอาชีพ (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) พ.ศ. 2512 เปิดแผนกช่างกล ช่างก่อสร้างและพณิชยการโดยใช้หลักสูตร พ.ศ. 2503 ของกรมอาชีวศึกษา พ.ศ. 2513 เปิดสาขาช่างสำรวจ ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรก ในประเทศไทย โดยใช้หลักสูตรของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ประเมินผลเป็นหน่วยกิต ขณะนั้นไม่มีหน่วยศึกษานิเทศก์สาขานี้ในกรมอาชีวศึกษา ต่อมาเมื่อมีหน่วยศึกษานิเทศก์ขึ้น ในกรมอาชีวศึกษาแล้ว พ.ศ. 2515 นักเรียนช่างสำรวจรุ่นแรกต้องสอบข้อสอบกระทรวงประเมินผลแบบเปอร์เซนต์ พ.ศ. 2518 กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรใหม่มีการประเมินผลแบบหน่วยกิตโรงเรียนเปิดสาขาเกษตรกรรมขึ้น ในพื้นที่บังคับไม่น้อยกว่า 200 ไร่ (ต่อมาลดลง 100 ไร่) เป็นโรงเรียนราษฎร์แห่งแรกในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2522 โรงเรียนช่างกล อุตสาหกรรมพณิชยการ “หมู่บ้านครู” เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนเทคโนโลยีหมู่บ้านครู” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 

     ทศวรรษที่ 2 (พ.ศ. 2522-2531) เปิดสอนระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์กลุ่มแรกไม่กี่โรงที่ทางการอนุญาตใหเ้ปิดได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา จากความพยายามของสมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน แห่งประเทศไทย ซึ่งอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ เป็นกรรมการของสมาคมในยุคนั้น โดยในปี พ.ศ. 2524 เปิดแผนกช่างยนต์ ช่างสำรวจและช่างไฟฟ้า ปีต่อๆ มาเปิดแผนกช่างก่อสร้าง เทคนิคอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ

 

     ทศวรรษที่ 3 (พ.ศ. 2532-2541) อาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ ซึ่งมีเจตจำนงมุ่งมั่นที่จะให้นักเรียนช่างกล เรียนจบปริญญาตรีให้ได้ จึงได้เตรียมการที่จะเปิดสอน หลักสูตรระดับปริญญาตรี ได้จัดเตรียมสถานที่อุปกรณ์การก่อสร้างไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ทันได้เริ่มก่อสร้างอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 แผนการขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีจึงได้ชะงักไประยะหนึ่ง

 

     ต่อมา ทายาทของอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ โดยมีคุณแม่ชีระเอิบ แย้มชุติ เป็นประธาน คอยให้การสนับสนุน อุปถัมภ์ได้สนองเจตนารมย์ของท่านอาจารย์ศุภชัย แย้มชุติ จึงได้เตรียมจัดการก่อสร้างอาคารในระยะแรกบนที่ดิน 50 ไร่ 43 ตารางวา เป็นอาคารคอนกรีต เสริมเหล็ก 4 ชั้น 2 หลัง เชื่อมต่อกันมีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 14,100 ตารางเมตร โดยได้อาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยวอุปเสนโน ป.9) วัดสระเกศ มาวางศิลาฤกษ์ และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ คณะกรรมการโครงการได้เสนอขอจัดตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุญาตให้จัดตั้ง ตามใบอนุญาต เลขที่ 2/2541 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2541 “วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี” โดยมีอาจารย์นภวรรณ แย้มชุติ เป็นผู้รับใบอนุญาต อาจารย์บัญชา เกิดมณี เป็นอธิการบดี และได้มีประกาศทบวงมหาวิทยาลัยเรื่องการจัด ตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 115 ตอนที่ 37 วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 เปิดรับนักศึกษา ทำการสอนในภาคเรียนที่ 1 ปี การศึกษา 2541 สมดังเจตนารมย์

 

    จาก วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี สู่ มหาวิทยาลัยธนบุรี นับตั้งแต่ ปี 2541 เป็นต้นมา คณะผู้บริหาร ได้พัฒนา อาคารสถานที่ สวนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งขยายพื้นที่เพิ่มเติม เป็น 101 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กีฬาแห่งความเป็นเลิศ ทั้งนี้ วิทยาลัยเทคโนโลยีธนบุรี ได้รับการเปลี่ยนประเภท และ ชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธนบุรี” เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2550 และ ได้กำหนดให้ ทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยธนบุรี